ว่าด้วยกฎหมายในการรับจำนำรถยนต์

การรับรับจำนำรถยนต์ หากไม่ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับรถให้ดีว่า รถคันที่ตนเองรับจำนำไว้นั้น เป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่เข้าใจในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ว่าทรัพย์ใดจำนำได้ ทรัพย์ใดจำนำไม่ได้ บุคคลใดเป็นผู้มีสิทธิ์นำไปจำนำได้ บุคคลใดไม่มีสิทธินำไปจำนำ หากรับจำนำไว้โดยไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ของกฎหมายดังกล่าว ผู้รับจำนำอาจไม่มีสิทธิโต้แย้งเมื่อเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงเขามาติดตามเอาคืน ยิ่งกว่านั้นอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานรับของโจรได้

การรับจำนำรถยนต์ จะมีผู้เกี่ยวข้องอยู่สองฝ่าย คือฝ่ายผู้นำรถไปจำนำ กับฝ่ายผู้รับจำนำ ต้องปรากฏเป็นเบื้องแรกก่อนว่าผู้ที่จะนำรถไปจำนำได้นั้นต้องเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถคันที่นำไปจำนำ จะเป็นเพียงผู้มีสิทธิครอบครองอย่างนี้นำรถนั้นไปจำนำไม่ได้ เช่น เราไปซื้อรถเงินผ่อนกับบริษัทฯขายรถ ระหว่างผ่อนค่างวดยังไม่ครบถ้วน เจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถก็คือบริษัทฯ ส่วนเราเป็นเพียงผู้มีสิทธิครอบครอง มิใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่เรามักจะเข้าใจความหมายของคำว่า “เจ้าของ” สับสน คำว่า “เจ้าของ” ตามนัยของกฎหมายแล้ว หมายถึง “ผู้ถือกรรมสิทธิ์” มิใช่เป็นเพียงผู้มีสิทธิครอบครองรถเท่านั้น เมื่อเป็นเพียงผู้มีสิทธิครอบครองรถ จึงไม่มีสิทธินำรถนั้นไปจำนำไว้กับบุคคลใด ๆ สมมุติว่าเราฝ่าฝืน คือขณะที่เราเช่าซื้อรถกับบริษัทฯ กำลังผ่อนค่างวดอยู่ รถอยู่ในความครอบครองของเรา เราเป็นผู้ใช้รถคันนั้นอยู่ที่บ้าน แล้วเราก็นำรถคันนั้นไปจำนำเสียโดยที่เจ้าของคือบริษัทฯไม่ได้ยินยอม อย่างนี้ในทางกฎหมายถือว่าเรากระทำความผิดอาญา ฐาน ยักยอก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายไม่ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด คดีจะขาดอายุความ (ปอ.มาตรา 356, มาตรา 96) ตัวอย่างเช่น นาย ก. เช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทหนึ่งในระหว่างการส่งค่างวดยังไม่ครบถ้วน นาย ก. ก็ได้นำรถยนต์นั้นไปจำนำเสีย แต่ก็ยังส่งค่างวดให้บริษัทฯตามปกติ บริษัทฯเองก็ไม่ทราบเรื่องคิดว่ารถยังอยู่กับนาย ก. เช่นเดิม เพราะเห็นมาส่งงวดทุกเดือนอย่างนี้ แม้ว่าในระหว่างผ่อนส่ง นาย ก.จะนำรถไปจำนำ ถือเป็นการยักยอกบริษัทฯ แต่อายุความจะยังไม่นับ จะไปเริ่มนับเอาตอนที่บริษัทฯทราบว่า นาย ก.ยักยอก และตราบใดที่บริษัทฯยังมิได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อนาย ก.ผู้ยักยอกแล้ว อำนาจการสอบสวนก็จะไม่เกิด คือ นาย ก. จะยังไม่ต้องถูกดำเนินคดีอาญาจนกว่าบริษัทฯจะได้มีการแจ้งความร้องทุกข์เสียก่อน แม้ว่าระหว่างนั้น นาย ก. จะเป็นผู้ยักยอกรถบริษัทฯคือนำไปจำนำแล้วก็ตาม นั่นคือขั้นตอนทางคดีกรณีเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว (ยอมความได้) ง่ายๆ ก็คือ ผู้เช่าซื้อนำรถที่อยู่ระหว่างการผ่อนส่งค่างวดกับบริษัทฯรถไปจำนำ ถือว่าผิดกฎหมายอาญา มาตรา 352 ฐานยักยอก มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นคดีที่ยอมความได้